วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ไข่ไก่มีประโยชน์ 100% จริงหรือ..?



ไข่เป็นอาหารที่หาทานได้ง่าย ราคาถูก สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง แต่เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ทางการแพทย์พบว่า ไข่ประกอบด้วยคลอเรสเตอรอล ที่ทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดสูง และทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด จึงมีคำแนะนำว่าในผู้ใหญ่ไม่ควรทานไข่เกินสัปดาห์ละ 3ฟอง แต่จากการวิจัยในระยะหลังๆ พบว่า คลอเรสเตอรอลที่มีในไข่ มีผลต่อคลอเรสเตอรอลในเลือดน้อยมาก
ดังนั้นจึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ทานไข่กันมากขึ้น และเพิ่มคำแนะนำให้ทานไข่วันละหนึ่งฟอง คำแนะนำใหม่นี้ใช้ได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หรือเป็นเพียงคำโฆษณา
องค์ประกอบของไข่ แบ่งออกเป็น สามส่วนใหญ่ๆ คือ1. เปลือกไข่ (Shell) เป็นเปลือกแข็ง ห่อหุ้มด้านนอก2. ไข่ขาว (White egg) มีลักษณะเหลวใสหรือสีเหลืองอ่อนห่อหุ้มไข่แดง3. ไข่แดง (Yolk egg) มีทรงกลมมีส้มหรือแดง อยู่ตรงกลาง ถ้ามีไข่ที่มีเชื้อ ส่วนของไข่แดงจะเปลี่ยนไปเป็นตัวอ่อนและฟักออกมาเป็นตัวได้
คุณค่าทางโภชนาการ
ไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารหลายชนิดอยู่ภายในไข่ ในไข่ขาวจะมีโปรตีนสูง และเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง คือมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย(Essentil aminoacid) ส่วนในไข่แดงจะมีสารอาหารหลายชนิด ได้แก่โปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ ไขมันในไข่แดงส่วนใหญ่จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว รวมถึงomega-3 ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมีคุณค่าเหมือนไขมันในปลาแซลมอลและปลาทะเล ส่วนคลอเรสเตอรอลจะมีเฉพาะในไข่แดง ไม่มีในไข่ขาว สารอาหารอื่นได้แก่ ธาตุเหล็ก โฟลิก(Folic acid) ไรโบเฟลวิน(Riboflavin) โคลีน (choline) วิตามินเอ บี ดี และ อี วิตามินที่ไม่พบในไข่คือ วิตามินซีธาตุเหล็กในไข่ มีคุณค่าเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ แต่เคี้ยวง่ายไม่เหนียวเหมือนเนื้อสัตว์ จึงเหมาะสมกับเด็กทารก และคนสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันโฟลิก เป็นสารที่ป้องกันเลือดจาง และป้องกันความพิการแต่กำเนิด มีความจำเป็นในหญิงที่ตั้งครรภ์โคลีน(Choline) เป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างความจำ(Cognitive function) ช่วยพัฒนาการในเด็กที่กำลังเติบโตจะเห็นได้ว่าไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่ามาก ให้สารอาหารที่เกือบครบถ้วน ในขณะที่ราคาถูกกว่าอาหารอื่นๆที่มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน สามารถทำเป็นอาหารได้หลายชนิด
ไข่กับคลอเรสเตอรอลและโรคหัวใจขาดเลือด
ในวงการแพทย์มีความกังวลในคลอเรสเตอรอลที่มีอยู่ในไข่ที่อาจจะเป็นเป็นต้นเหตุของไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะก่อปัญหาให้กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด แต่ในงานวิจัยที่พบภายหลัง พบว่าคลอเรสเตอรอลในไข่มีผลทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นความกลัวคลอเรสเตอรอลในไข่เริ่มลดลง โดยในสมาคมหัวใจของ สหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) ได้เปลี่ยนคำแนะนำในการทานไข่ ซึ่งจากเดิมไม่ควรเกิน 3ฟองต่อสัปดาห์ เป็น วันละไม่เกินหนึ่งฟอง
ความปลอดภัยในไข่
ภัยหนึ่งที่อาจพบได้ในไข่คือ เชื้อโรคชื่อ Samonella Enteritidis เชื้อนี้พบว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสียสาเหตุที่มีเชื้อปนเปื้อนในไข่พบว่าเกิดจากสองสาเหตุคือ สาเหตุแรก ที่เป็นสาเหตุใหญ่คือการที่เปลือกไข่มีเลือดหรืออุจจาระปนเปื้อนในขณะที่ทำการเก็บไข่ เกิดจากการเลี้ยงไก้ในที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นในการเลือกไข่ ควรเลือกไข่ที่ผิวสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อนที่เปลือกไข่ ถ้าเปลือกไข่เปื้อนมากควรทำการเช็ดผิวให้สะอาดก่อนที่จะทำการเก็บสาเหตุที่สองคือ การที่แม่ไก่ป่วยติดเชื้อ และเชื้อไปฝังตัวอยู่ในรังไข่ เมื่อออกมาเป็นไข่จะมีเชื้ออยู่ในไข่แดง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการทานไข่ดิบ ควรทำให้สุกก่อนทานเชื้อ Samonella จะเจริญได้ดีในอุณหภูมิห้อง แต่เจริญลดลงในอุณหภูมิที่เย็น ดังนั้นจึงควรเก็บไข่ไว้ในตู้เย็น ซึ่งไข่ที่เก็บในตู้เย็นสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 สัปดาห์ โดยที่ไข่ไม่เสีย
การทานไข่อย่างฉลาด
นอกจากการทานไข่ควรทำให้สุกแล้ว การทานไข่ในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ชนิดอื่น การทำไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ในการปรุงอาหารควรใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว อาหารที่ควรทำ คือ สลัดไข่ หรือยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารจากไข่ มีไฟเบอร์และวิตามินซีจากผัก และผลไม้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาว ใส่เบคอน ไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอน น้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง
ควรเลือกทานไข่ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด มากกว่าไข่ฟองเล็ก เช่น ไข่นกกระทา เพราะปริมาณคลอเรสเตอรอลในไข่ใบใหญ่จะน้อยกว่าในไข่ใบเล็ก เมื่อเทียบกันในปริมาณเท่ากัน
ไข่วันละฟองทานได้หรือไม่
ในคนทั่วไป การทานไข่วันละฟองถือว่าไม่มากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ทานไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทน เนื้อสัตว์ ในคนสูงอายุ ถ้ามีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการทานไข่แดง ทานเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น
คนที่ไม่ควรทานไข่มากเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ คือคนที่มีไขมันในเลือดสูง และจำเป็นต้องควบคุมไขมันในเลือดผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ ก็คงต้องงดทาน เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้
ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี มีการผลิตไข่ที่สามารถทานได้ตลอดปี และมีแหล่งผลิตที่ดีและสะอาด ราคาไม่แพง ดังนั้นเราจึงควรเลือกทานอาหารโปรตีนที่มาจากไข่ มากกว่าการเลือกทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งคุณค่าทางอาหารสู้ไข่ไม่ได้ค่ะ
โคเลสเตอรอล เป็นสารไขมันชนิดหนึ่งคล้ายขี้ผึ้ง ปรากฏอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายชนิดภายในร่างกาย แต่โคเลสเตอรอลก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอยู่นาน อย่างไรก็ตามประโยชน์ของโคเลสเตอรอลนอกจากเป็นสารที่ให้พลังงานแล้วร่างกายยังนำมาใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางอย่างด้วย
หน้าที่ของโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย 3 ประการคือ (1) เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ (2) เป็นต้นกำเนิดของกรดน้ำดี (3) เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนสเตียรอยด์
โคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ จากการศึกษาพบว่าโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบมากถึง 20-25% และเป็นลักษณะเฉพาะของเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในเซลล์พืชพบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์น้อยมาก และไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเลยแม้แต่น้อย นักชีวเคมีอธิบายว่าทั้งนี้เนื่องมาจากโครงสร้างที่เป็นวงแหวนชนิดม้วนวนของโคเลสเตอรอล ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของสารเหลวที่ผ่านเข้าและออกจากเซลล์ ในร่างกายของมนุษย์ พบโคเลสเตอรอลมากที่สุดในอวัยวะ 3 ชนิด คือ สมอง ไขสันหลัง และตับ
โคเลสเตอรอลเป็นต้นกำเนิดของกรดน้ำดี (bile acids) ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมของไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันจากลำไส้เล็ก ร่างกายขับโคเลสเตอรอลออกจากร่างกายในรูปของกรดน้ำดี ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างกรดน้ำดี บางครั้งเกิดการตกผลึกเป็นตะกอนภายในถุงน้ำดี เกิดเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิ่วโคเลสเตอรอล แตกต่างจากนิ่วในใตและระบบทางเดินปัสสาวะ
โคเลสเตอรอลถือเป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนสเตียรอยด์ (steroid hormone) หลายชนิด เช่น คอร์ติซอล คอร์ติโซน อัลโดสเตอโรน จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนเพศทั้งหลายอันได้แก่โปรเจสเตอโรน เอสโตรเจน และแอนโดรเจน นอกจากนี้ยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์วิตามินดีชนิด D3
แหล่งให้โคเลสเตอรอลของร่างกายมนุษย์ โคเลสเตอรอลภายในร่างกายได้มาจาก 2 ทาง คือจากอาหารและโคเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้น หลักสำคัญคือเฉพาะอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้นถึงให้โคเลสเตอรอลโดยมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ส่วนอาหารที่มาจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอล
อาหารที่มาจากพืชทุกชนิดจะไม่มีโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลมาจากสัตว์เท่านั้น บางคนเข้าใจผิดว่าทุเรียน ขนุน มะพร้าว เป็นพืชที่มีโคเลสเตอรอลสูง ทุเรียน ขนุน มะพร้าว เป็นพืชจึงไม่มีโคเลสเตอรอล แต่อย่างไรก็ตาม ทุเรียน และขนุน เป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ถ้ารับประทานมากๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ส่วนกะทิที่ได้จากมะพร้าว แม้ว่าไม่มีโคเลสเตอรอล แต่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงซึ่งควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
น้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืช จึงไม่มีโคเลสเตอรอลเลย และน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ก็ไม่มีโคเลสเตอรอลเช่นเดียวกัน แต่จะมีปริมาณและชนิดของกรดไขมันแตกต่างกัน ส่วนอาหารเจเป็นอาหารที่ทำมาจากพืชเท่านั้น จึงไม่มีโคเลสเตอรอล ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ แต่ถ้าเป็นอาหารเจที่มันจัด และมีแป้งมาก อาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ ดังนั้นอาหารเจที่ดีควรใช้ไขมันไม่อิ่มตัวปรุง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และพลังงานจากไขมันที่ได้รับจากอาหารทั้งวัน ไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด อาหารชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะทำให้สุกหรือเป็นอาหารดิบจะให้ปริมาณโคเลสเตอรอลเท่ากัน โดยทั่วไปอาหารดิบ 100 กรัม เมื่อทำให้สุกน้ำหนักมักลดลงไป เนื่องจากสูญเสียน้ำไปบางส่วน ทำให้น้ำหนักเหลือไม่ถึง 100 กรัม แต่ปริมาณโคเลสเตอรอลยังคงเท่าเดิม
ประมาณสี่ในห้าหรือ 80% ของโคเลสเตอรอลทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเองภายในร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์โคเลสเตอรอลได้จากกรดอะซิติก (acetic acid) และอะซิติลโคเอ็นซัยม์เอ (acteyl coenzyme A) ซึ่งได้จากการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโปรตีน ภายในร่างกาย การสังเคราะห์โคเลสเตอรอลจากอะซิติลโคเอ็นซัยม์เอต้องผ่านปฎิกิริยาที่สำคัญ 7 ขั้นตอน อวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างโคเลสเตอรอลมากคือ ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมหมวกไต และอวัยวะสืบพันธุ์ คือ รังไข่ อัณฑะ และรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น